ข้อมูล / แผนกเยาวชน คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตชนฆราวาส

          วันเยาวชนโลกคืออะไร?

          วันเยาวชนโลกแท้จริงคือการเดินทางแสวงบุญของเยาวชน เป็นการเฉลิมฉลองแห่งการเผชิญและความเป็นหนึ่งเดียวกันในความเอื้ออาทร การเชื้อเชิญให้ไปมีส่วนร่วมนี้จึงมีถึงเยาวชนทุกคนจากทั่วโลก  จุดประสงค์ของวันเยาวชนโลกมุ่งที่จะให้เยาวชนตอบสนองต่อความกังวลของสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ซึ่งได้แก่การรื้อฟื้นการประกาศพระวรสารซึ่งพระองค์ทรงปรารถนาที่จะให้เยาวชนทุกคนมีส่วนร่วม วันเยาวชนโลก เปิดโอกาสให้เยาวชนพบ “รหัสธรรมใหม่ๆของพระศาสนจักร” (ยอห์น ปอล 2) ในประสบการณ์สามัญแห่งการเดินทาง การสวดภาวนา และการนมัสการ ตลอดเวลาแห่งประวัติศาสตร์วันเยาวชนโลกมีการพัฒนาในมิติแห่งการเผชิญหลายรูปแบบ ทำให้เกิดประสบการณ์แห่งชีวิตจิตและชีวิตหมู่คณะที่มีความหมายลึกซึ้งขึ้น นอกเหนือไปจากนั้น ยังมีการเฉลิมฉลองพิธีบูชามิสซาขอบพระคุณอย่างสง่างามที่มีผู้เข้าร่วมถึงประมาณ 800,000 คน พร้อมกับโปรแกรมเล็กอื่นๆที่กระจัดกระจายกันอยู่ทั่วโลก ส่วนบรรดาพระสังฆราชและเยาวชนในพระศาสนจักรต่างๆทุกหัวระแหงโลกต่างพากันทำการเฉลิมฉลอง
ในภาษาของตนเอง การเฉลิมฉลองของเยาวชนนี้สร้างความชื่นชมยินดีด้วยการสัมผัสกับดนตรี การแสดงบนเวที การเต้นรำ และการบันเทิงต่าง ๆ อีกมากมาย

          การจัดให้มีวันเยาวชนโลกนั้นมีเป้าหมายที่จะก่อประโยชน์ให้แก่ทั้งแขกเหย้าและแขกเยือน “พระศาสนจักรมีเรื่องมากมายที่จะบอกเล่าให้เยาวชนได้ทราบ และเยาวชนก็มีเรื่องมากมายเช่นเดียวกันที่จะบอกให้พระศาสนจักรทราบ  การเสวนากันนี้ต้องเปิดใจกว้าง ชัดเจน และกล้าหาญ มันเอื้ออำนวยส่งเสริมให้เกิดการสัมผัสและการแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันระหว่างชนชั้นวัยที่แตกต่างกัน มันเป็นขุมทรัพย์ประเสริฐ และสร้างความหนุ่มแน่นให้กับพระศาสนจักรและสังคม” (พระสันตะปาปา ยอห์น ปอล 2)

ประวัติศาสตร์วันเยาวชนโลก: ความสำเร็จที่มีอยู่ทั่วไปณ ข้างถนนเงียบๆแห่งหนึ่งใกล้จตุจักรเซนต์ปีเตอร์ที่กรุงโรมตอนต้นๆปี 1980 มีเยาวชน กลุ่มหนึ่งมาพบเพื่อสวดภาวนาและสนทนากันโดย สม่ำเสมอ บ่อยครั้งพระสังฆราชปอล โจเซฟ กอร์เดส ชาวเยอร์มัน ซึ่งเป็นรองประธานของสมณสภาเพื่อฆราวาสจะมาร่วมด้วย จากพฤติกรรมดังกล่าว
และใกล้ๆกับจุดของเหตุการณ์นี้ในวัดซันลอเรนโซเกิดมีความคิดใหม่จุติขึ้นมา  สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ได้ทรงเชิญบรรดาสัตบุรุษให้มาที่กรุงโรมเพื่อทำการเฉลิมฉลองปีศักดิ์สิทธิ์แห่งการไถ่กู้ในปี 1983/84 ซึ่งถือเป็นวันครบรอบการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสตเจ้าเป็นปีที่ 1950 และในปีศักดิ์สิทธิ์นี้ได้มีการจัดกิจกรรมมากมายหลายอย่างสำหรับเยาวชน  ภายในวัดซันลอเรนโซเองต่างคนต่างคิดกันว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ต่อเนื่องแทนที่จะเป็นเพียงประชุมพบปะกันเพียงครั้งเดียว ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการวางแผนนี้คือพระสังฆราชกอร์เดสและเยาวชน…

          ในปี 1984  เยาวชนทั่งโลกกว่า 300,000 คนตอบสนองคำเชิญของสมเด็จพระสันตะปาปามาพร้อมหน้ากันที่กรุงโรม ณ ลานจตุจักรเซนต์ปีเตอร์ในวันอาทิตย์ใบลานเพื่อทำการฉลองปีศักดิ์สิทธิ์สากลสำหรับเยาวชน  การจัดที่พักให้เยาวชนเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเจ้าหน้าที่กรุงโรมแจ้งให้ทราบในระยะกระชั้นชิดห้ามสร้างเต๊นท์ขนาดยักษ์เพื่อต้อนรับแขกเยาวชน  ทว่า 6,000 ครอบครัวเสนอตัวเองโดยไม่มีการนัดหมายขอรับเป็นเจ้าภาพให้เยาวชนที่มาในงานพักในบ้านของตน นอกจากบรรดาพระสังฆราชที่ได้รับเชิญให้มาเสวนากับเยาวชนแล้ว ยังมีคุณแม่เทเรซาแห่งกัลกัตตาและบราเดอร์ โรเจอร์ ผู้สถาปนาชุมชนไตเซ่มาร่วมในงานครั้งนี้ด้วย เยาวชนเดินรูป 14 ภาคที่สนามโคลีเซียมในขณะที่มีการเฉลิมฉลองพิธีบูชามิสซากันที่มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์  การตอบรับของเยาวชนนั้นล้นหลามจริงๆ ในเย็นวันเสาร์ก่อนอาทิตย์ใบลานสมเด็จพระสันตะปาปาทรงตรัสกับบรรดาเยาวชนว่า “การที่พวกเธอมารวมตัวอยู่กัน
ณ ที่นี้ในวันนี้นั้นช่างเป็นภาพที่สวดสดงดงามเสียนี่กระไร!  ใครนะที่บังอาจพูดว่าทุกวันนี้เยาวชนได้สูญเสียคุณค่าไปหมดแล้ว? จริงหรือที่ไม่อาจหวังหรือพึ่งพาเยาวชนได้อีกต่อไป? จากนั้นสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ได้ทรงมอบสัญลักษณ์ให้แก่เยาวชนโลก คือ กางเขนไม้ขนาดใหญ่ ซึ่งต่อมาพากันเรียกว่า “ไม้กางเขนแห่งวันเยาวชนโลก”

          ปีเยาวชนกับคำกล่าวหาที่มีคนอ้างว่าเยาวชนสมัยนี้พึ่งพาอาศัยไม่ได้แล้วนั้น สมเด็จพระสันตะปาปาทรงตัดสินพระทัยด้วยพระองค์เองว่าจำต้องจัดให้มี การชุมนุมเยาวชนมากกว่าการจัดเพียงครั้งเดียวแล้วเลิกลากันไป เยาวชนของวัดซันลอเรนโซและสมณสภาเพื่อฆราวาสก็มีความคิดเช่นเดียวกันกับสมเด็จพระสันตะปาปา เมื่อสหประชาชาติประกาศให้ปี 1985 เป็น “ปีเยาวชนสากล” โรมจึงตัดสินใจทันที  จะต้องจัดให้เยาวชนมาพบกับพระสันตะปาปาภายในปีนั้นให้ได้  เวลามีน้อยมาก ผู้ที่ได้รับผิดชอบให้เป็นผู้จัดจึงต้องทำงานกันแบบหามรุ่งหามค่ำ ในที่สุดมีเยาวชนกว่า 250,000 คนตอบสนอง

          การเชื้อเชิญของสมเด็จพระสันตะปาปามาชุมนุมกันที่โรมในวันอาทิตย์ใบลานของปี 1985    ก่อนหน้าวันงานเล็กน้อย คือ วันที่ 31 มีนาคม 1985 สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ได้ออกสมณลิขิตขึ้นมาฉบับหนึ่งถึงเยาวชนโลก  ข้อใหญ่ใจความคือความรับผิดชอบที่เยาวชนทุกรุ่นทุกสมัยพึงมีต่ออนาคต: “ความรับผิดชอบต่อความเป็นจริงของโลกปัจจุบันและความรับผิดชอบต่อรูปร่างหน้าตาของสังคมล้วนอยู่ในกำมือของเยาวชนเป็นอันดับต้น ความรับผิดชอบของพวกเธออยู่ที่วันหนึ่งสิ่งนั้นจะกลายเป็นความจริงพร้อมกับตัวพวกเธอเอง แต่สิ่งนั้นยังเป็นสิ่งที่รออยู่ในวันข้างหน้า”

          หลังการชุมนุมเยาวชนโลกไปได้หนึ่งสัปดาห์ สมเด็จะพระสันตะปาปาทรงทำให้พวกเราแปลกใจโดยการประกาศสถาปนาวันเยาวชนโลกเป็นเหตุการณ์ที่ต้องทำกันเป็นประจำ ในสมณสาส์นวันปัสกา “Urbi et orbi” ของวันที่ 7 เมษายน พระองค์ทรงตรัสว่า “เมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว เราได้พบปะเยาวชนนับแสนคน ภาพน่าชื่นชมที่แสดงให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังของพวกเขาประทับใจเราเป็นอย่างยิ่ง เราปรารถนาให้ประสบการณ์อันน่าอัศจรรย์นี้เกิดขึ้นซ้ำอีกในปีต่อๆไป อยากให้การชุมนุมเยาวชนโลกได้รับการสถาปนาขึ้นในวันอาทิตย์ใบลาน เราขอยืนยันความเชื่อมั่นของเราว่า เยาวชนกำลังเผชิญกับภารกิจที่ยากแต่มีความตื่นเต้น นั้นคือ การเปลี่ยนกลไกที่ส่งเสริมลัทธิการเห็นแก่ตัวและการเอารัดเอาเปรียบกันในความสัมพันธ์ระหว่างชาติให้หันกลับไปสร้างโครงสร้างใหม่ที่นำไปสู่ความจริง ความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน และสันติ” ในคำปราศรัยของพระองค์โอกาสคริสตมาสที่มีต่อ

          คณะพระคาร์ดินัลในวันที่ 20 ธันวาคม พระองค์ทรงเน้นอีกครั้งว่า วันเยาวชนโลกควรเป็นเหตุการณ์ประจำปีต่อไปในอนาคต “พระคริสตเจ้าได้ทรงประทานพระพรพิเศษแก่การชุมนุม (ในวันอาทิตย์ใบลาน) ดังนั้นในการชุมนุมเยาวชนโลกในปีต่อๆไปควรจัดขึ้นในวันอาทิตย์ใบลานอาศัยความร่วมมือกับสมณสภาเพื่อฆราวาส”

          วันเยาวชนโลกครั้งแรก

          ความสำเร็จที่เกิดขึ้นคงจะดึงดูดความสนใจของโลกเนื่องจากการชุมนุมเยาวชนโลกประสบความสำเร็จอย่างสวยสดงดงาม วันเยาวชนโลกครั้งแรก จริง ๆ นั้นได้มีการเฉลิมฉลองกันอย่างเป็นทางการที่กรุงโรมในวันอาทิต์ใบลานปี ค.ศ. 1986 มีการจัดแบบเดียวกันอีกครั้งหนึ่งในปี 1987  หลังจากนั้นจึงตั้งกฎว่าวันเยาวชนโลกจะจัดกันสองปีครั้ง ณ สถานที่เป็นใจกลางใหม่ในโลกแห่งใดก็ได้ ในปีที่ไม่มีการชุมนุมเยาวชนโลกจะมีการเฉลิมฉลองเช่นเดียวกันในวันอาทิตย์ใบลานที่กรุงโรมและในสังฆมณฑลต่างๆทั่วโลก

          ในปี 1987 วันเยาวชนโลกจัดขึ้นที่นครบัวโนสไอเรส (ประเทศอาร์เจนตินา) ผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 1 ล้านคนได้ยินสมเด็จพระสันตะปาปาตรัสว่า “เราขอกล่าวย้ำกับพวกเธอถึงสิ่งที่เราเคยกล่าวไว้กับพวกเธอในวันแรกแห่งสมณสมัยของเราว่า พวกเธอคือความหวังของพระสันตะปาปาและความหวังของพระศาสนจักร” พระสันตะปาปาทรงเรียกร้องเยาวชนช่วยกันเสริมสร้างหน้าตาของโลกให้สดใสขึ้น “อาศัยวิธีนี้พวกเธอจะสร้างวัฒนธรรมแห่งชีวิตและความจริง อิสระเสรีภาพและความยุติธรรมในการดำเนินชีวิต การคืนดีกัน และสันติ” เป็นเพราะความประทับใจในกระบวนการนี้ พระสันตะปาปาได้ทรงอุทิศบทหนึ่งของพระสมณลิขิต “Christifideles laici” ของวันที่ 30 ธันวาคม 1988 ว่าด้วยเรื่องที่เกี่ยวกับฆราวาส “พระศาสนจักรมีหลายเรื่องที่ต้องพูดคุยกันกับเยาวชน และเยาวชนเองก็มีเรื่องมากมายที่จะแบ่งปันกับพระศาสนจักร การเสวนาระหว่างกันนี้หากทำกันอย่างจริงใจ มีความชัดเจน และด้วยความกล้าหาญแล้วจะช่วยสร้างบรรบยากาศที่เอื้อต่อการประชุมและการแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันระหว่างชนยุคหนึ่งไปสู่ชนอีกยุคหนึ่ง และจะเป็นขุมทรัพย์มั่งคั่งอีกทั้งมีความเป็นหนุ่มกระชุ่มกระชวย

          สำหรับพระศาสนจักรและสังคมพลเรือน”  ในปีถัดไปเยาวชนประมาณ 6000,000 คนพากันเดินทางไปชุมนุมที่นครซันเตียโก ประเทศสเปน สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ถามเยาวชนว่า “ทำไมพวกเธอพากันมาที่นี่ พวกเธอคนหนุ่มสาวแห่งศตวรรษที่ 20? ไม่ใช่เป็นเพราะพวกเธอรู้สึกว่าพวกเธอมีจิตตารมย์ที่จะ
จรรโลงโลกนี้ในตัวพวกเธอดอกหรือ? 

หลังการถล่มทลายของกำแพง

          ในปี 1991 เยาวชนจำนวนหนึ่งล้านห้าแสนคนได้ไปชุมนุมกันในวันเยาวชนโลก ณ เมืองๆหนึ่งในประเทศโปแลนด์ที่เรียกกันว่าเมืองเชสโตโกวา  หลังจาก ที่ “ม่านเหล็ก” ถล่มทลายไปนี้เป็นโอกาสแรกที่เยาวชนจากโลกซีกยุโรปตะวันออกสามารถไปร่วมในการชุมนุมครั้งนี้โดยไม่มีอุปสรรคกีดกัน "บรรดาเยาวชนจากทวีปยุโรปตะวันออกและตะวันตก .. ทวีปเก่าแก่ของเรากำลังรอคอยพวกเธออยู่เพื่อที่จะช่วยกันสร้าง “บ้านพี่เมืองน้อง” นี้ซึ่งอนาคตจะมีแต่ความเอื้ออาทรและสันติ … เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของชนรุ่นต่อไปในอนาคต จำเป็นจะต้องสร้างยุโรปใหม่ขึ้นมาบนพื้นฐานของคุณค่าฝ่ายจิตที่หยั่งรากลึกลงไปยังแก่นในของวัฒนธรรม” พระสันตะปาปาทรงมีพระดำรัส ในปี 1993 เยาวชนประมาณครึ่งล้านได้พบกับสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ที่เมืองเดนเวอร์ สหรัฐอเมริกา สมเด็จพระสันตะปาปาทรงมีพระดำรัสกับเยาวชนที่มาชุมนุมกันโดยมีเทือกเขาร๊อคกี้เป็นฉากเบื้องหลังว่า “จงอย่าได้ปล่อยให้มโนธรรมของพวกเธอเฉื่อยชาสงบเงียบ! มโนธรรมคือหัวใจที่แท้จริงและวิหารที่ประทับของพระเจ้าและของเรา… จงอย่าได้กลัวที่จะออกไปที่ถนนและที่สาธารณะ… นี่ไม่ใช่เวลาที่เราจะมาอายต่อพระวรสาร… จงอย่ากลัวที่จะยุติกับวิธีการดำเนินชีวิตประจำวันที่สดวกสบายแล้วรับการท้าทายที่จะทำให้พระคริสตเจ้าเป็นที่รู้จักใน ‘นคร’ ยุคใหม่” การชุมนุมครั้งที่มีผู้คนมาร่วมมากที่สุดในงานชุมนุมเยาวชนโลกเกิดขึ้นที่นครมานิลาในปี 1995 เยาวชนจำนวน 4 ล้านคนพากันไชโยโห่ร้องต้อนรับ

          สมเด็จพระสันตะปาปาในขณะที่พระองค์ทรงเรียกร้องให้มีความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน “พวกเธอสามารถที่จะมอบตนเอง เวลาของพวกเธอ พละกำลัง และความสามารถของพวกเธอเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของผู้อื่นหรือเปล่า? พวกเธอสามารถที่จะรักไหม? หากพวกเธอสามารถ พระศาสนจักรและสังคมก็อาจคาดหวังสิ่งดีงามต่าง ๆ มากมายจากพวกเธอแต่ละคน”

เมื่อวันเยาวชนโลกหวนกลับไปจัดที่นครปารีสในปี 1997  เยาวชนเยอร์มันจำนวนมากเป็นพิเศษที่ตอบสนองคำเชิญของสมเด็จพระสันตะปาปา  เยาวชน
เกือบล้านคนได้พากันไปร่วมชุมนุมในปีนั้น  สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ได้ทรงเรียกร้องเยาวชนให้ดำเนินชีวิตที่เป็นประจักษ์พยาน “การเดินทางของ
พวกเธอไม่ได้จบลงที่นี่ วันเวลาไม่เคยหยุดเดิน จงออกไปตามถนนหนทางของโลกนี้ จงเดินไปตามวิถีทางของมนุษย์ ในขณะเดียวกันก็ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
กับพระศาสนจักรของพระคริสตเจ้า”

บนหนทางสู่เยอรมนี

          ปีปิติมหาการุญ 2000 กลายเป็นการเฉลิมฉลองปีเยาวชนโลกอีกครั้งหนึ่ง เยาวชนเกือบ 2 ล้านคนพากันมาที่กรุงโรมซึ่งมีเยาวชนเยอรมันราว 12,000 คน มาร่วมในการชุมนุม ในการชุมนุมครั้งนี้สิ่งแรกที่มีการพูดถึงกันคือความคิดที่จะจัดการชุมนุมเยาวชนโลกครั้งต่อไปที่ประเทศเยอรมนี  สมเด็จพระสันตะปาปาทรงมีพระดำรัสต่อเยาวชนว่า “เราขอพูดถึงเยาวชนของศาสนจักรอื่นๆด้วย… ที่ได้มาร่วมชุมนุมกัน ณ ค่ำคืนนี้… ขอให้การชุมนุมเยาวชนโลกเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่เราจะได้มาทำความรู้จักกันและร่วมใจกันวิงวอนพระจิตแห่งพระคริสตเจ้าซึ่งหรรษทานแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันของบรรดาคริสตชนทั้งปวง!”   สมาพันธ์เยาวชนแห่งเยอรมนี และกลุ่ม BDKJ แห่งเยอรมนีมีส่วนร่วมในการจัดงานชุมนุมเยาวชนโลกที่กรุงโรมและได้สนับสนุนงานชุมนุมทุกครั้งที่ผ่านมา  ถัดมาอีกสองปี เยาวชนเยอรมัน 3,000 คนเดินทางไปร่วมชุมนุมที่เมืองโตโรนโต ประเทศแคนาดา ซึ่งในงานครั้งนี้มีเยาวชนมาร่วมทั้งสิ้นประมาณ 800,000 คน อีกครั้งหนึ่งที่สมเด็จพระสันตะปาปาทรงเรียกร้อง เยาวชนให้ช่วยกันสร้างอนาคตของมนุษยชาติ พระองค์ทรงตรัสเพิ่มเติมว่า “ ที่มหาวิหารเมืองโคโลญ มีพระธาตุของพญาสามองค์ ปราชญ์จากทิศตะวันออก ผู้ติดตามดาวซึ่งพาพวกเขาให้ได้พบกับพระคริสตเจ้า ในฐานะที่เป็นผู้เดินทาง การเดินทางฝ่ายจิตของพวกเธอไปยังเมืองโคโลญเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ พระคริสตเจ้าทรงกำลังรอพวกเธออยู่ที่นั่นสำหรับการชุมนุมวันเยาวชนโลกครั้งที่ยี่สิบ”

          เราได้เริ่มเตรียมงานวันเยาวชนโลกที่จะจัดขึ้นในประเทศเยอรมนีกันแล้ว ในวันอาทิตย์ใบลานปี 2003 ชาวแคนาดากลุ่มหนึ่งได้นำไม้กางเขนวันเยาวชนโลกไปยังจตุรัสเซนต์ปีเตอร์ที่กรุงโรมและส่งมอบต่อให้แก่เพื่อนชาวเยอรมัน หลังจากที่เดินทางมาแล้ว 26 ประเทศ กางเขนนี้ซึ่งล่าสุดอยู่ที่เมืองซาราเจโวได้เดินทางมาถึงนครเบอร์ลินในวันอาทิตย์ใบลานของปี ค.ศ. 2004  จากจุดนี้กางเขนจะเริ่ม “ธุดงค์เพื่อการคืนดีกัน” ต่อไปยังประเทศเยอรมนี ซึ่งคาดหวังว่าจะเดินทางไปถึงเมืองโคโลญเพื่อการเปิดวันเยาวชนโลกครั้งที่ 20 ในวันที่ 16 สิงหาคม 2005 ที่โคโลญเราจะสามารถมองย้อนหลังกลับไปช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาพร้อมกับเรื่องราวของความสำเร็จ ความสำเร็จสำหรับสมเด็จพระสันตะปาปาและสำหรับเยาวชนทั่วทั้งโลก

จากเยอรมันนีสู่ออสเตรเลีย

          งานเยาวชนโลกที่จัดขึ้นในประเทศออสเตรเลีย ได้เตรียมการตั้งแต่วันอาทิตย์ใบลานปี ค.ศ.2006 โดยเยาวชนชาวเยอรมันนีกลุ่มหนึ่งได้นำไม้กางเขนวันเยาวชนโลกไปยังจตุรัสเซนต์ปีเตอร์ที่โรม และส่งมอบต่อให้กับเยาวชนชาวออสเตรเลีย หลังจากที่เดินทางมาแล้ว 27 ประเทศ กางเขนนี้จะเดินทางไปถึงเมืองซิดนีย์ เพื่อเปิดวันเยาวชนโลก ครั้งที่ 23 ในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.2008 และที่ซิดนีย์นี่เอง ที่เราจะสามารถมองย้อนหลังกลับไปช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาพร้อมกับเรื่องราวของความสำเร็จ - ความสำเร็จสำหรับสมเด็จพระสันตะปาปาและสำหรับเยาวชนทั่วทั้งโลก

จากออสเตรเลียสู่มาดริด ประเทศสเปน

          สมเด็จพระสันตะปาปาฯ ทรงกล่าวกับเยาวชนว่า ความคิดของข้าพเจ้าบ่อยครั้งคำนึงไปถึงยังวันเยาวชนโลกที่นครซิดนีย์เมื่อปี 2008 ณ ที่นั้นเราได้มีประสบการณ์แห่งการเฉลิมฉลองความเชื่อที่ยิ่งใหญ่มาก ซึ่งพระจิตเจ้าได้ทรงกระทำงานด้วยการสร้างสายสัมพันธ์ที่ล้ำลึกท่ามกลางเยาวชนผู้ที่มาร่วมชุมนุมกันจากทั่วทุกมุมโลกในการชุมนุมครั้งนั้นก็เหมือนกันกับการชุมนุมครั้งก่อนๆ ก่อให้เกิดผลดีเยี่ยมแก่ชีวิตเยาวชนเป็นอันมากรวมทั้งชีวิตของพระศาสนจักรโดยรวมด้วย บัดนี้เรากำลังตั้งหน้าตั้งตารอวันเยาวชนโลกครั้งต่อไปที่จะมีขึ้นในนครมาดริดซึ่งจะทำการเฉลิมฉลองกันในเดือนสิงหาคม ค.ศ.2011  ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1989 หลายเดือนก่อนที่กำแพงเบอร์ลินจะถูกทำลายลงเป็นประวัติศาสตร์ การแสวงบุญของเยาวชนแวะที่นครซันเตียโก เด กอมปอสเตลา ประเทศสเปน

          มาบัดนี้ ณ เวลาที่ยุโรปกำลังค้นหารากเหง้าแห่งความเป็นคริสตชนของตน การชุมนุมของเราจะย้ายไปที่มาดริดโดยใช้หัวข้อการชุมนุมว่า “จงหยั่งรากลึกในองค์พระเยซูคริสตเจ้า จงมีความเชื่ออย่างมั่นคง (เทียบ คส. 2: 7) ข้าพเจ้าขอสนับสนุนให้บรรดาเยาวชนมีส่วนร่วมในเหตุการณ์นี้ ซึ่งมีความสำคัญมากทั้งสำหรับพระศาสนจักรในยุโรปและพระศาสนจักรสากล ข้าพเจ้าอยากให้เยาวชนหนุ่มสาวทุกคน ทั้งผู้ที่มีความเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า รวมทั้งผู้ที่ยังหวั่นไหวหรือไม่แน่ใจ หรือแม้แต่ผู้ที่ไม่มีความเชื่อในพระองค์ จงได้มีส่วนร่วมในประสบการณ์ครั้งนี้ ซึ่งอาจเป็นเรื่องสำคัญชนิดคอขาดบาดตายสำหรับชีวิตของพวกเขา มันเป็นประสบการณ์กับพระเยซูพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงเสด็จกลับคืนพระชนม์ชีพ และยังดำรงชีวิตอยู่  พวกเขาจะได้พบกับความรักของพระองค์ที่มีต่อพวกเขาแต่ละคน พระสันตะปาปา ทรงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หัวข้อหลักที่มอบให้ 3 ปี ต่อจากนี้ จะช่วยบรรดาเยาวชนเตรียมจิตใจได้เป็นอย่างดี ก่อนที่ทุกคนจะได้พบกันอีกครั้ง ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน ระหว่างวันที่ 16 - 21 สิงหาคม 2011

          งานวันเยาวชนโลกได้ถูกเตรียมการตั้งแต่วันอาทิตย์ใบลาน ปีค.ศ.2009  ซึ่งจะจัดขึ้นภายในสังฆมณฑลท้องถิ่น พระสันตะปาปาทรงเลือกหัวข้อ "เราได้มอบความหวังไว้ในพระเจ้าผู้ทรงชีวิต" (1 ทิโมธี 4:10)

          งานชุมนุมเยาวชนโลก 2010 (ครั้งที่ 25) ซึ่งจะจัดขึ้นภายในสังฆมณฑลท้องถิ่นอีกเช่นกัน พระสันตะปาปาทรงเลือกหัวข้อ "พระอาจารย์ผู้ทรงความดี ข้าพเจ้าต้องทำอย่างไรถึงจะได้รับชีวิตนิรันดร" (มาระโก 10:17)

          งานชุมนุมเยาวชนโลก 2011 (ครั้งที่ 26) ซึ่งจะจัดขึ้นในระดับนานาชาติที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน พระสันตะปาปาทรงเลือกหัวข้อ "จงหยั่งรากลึกลงในพระเยซูคริสต์ จงมีความเชื่ออย่างมั่นคง" (โคโลสี 2:7)