วันที่ 3 – 4  สิงหาคม 2012 แผนกเยาวชน อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ นำโดยคุณพ่อสราวุฒิ อมรดิษฐ์ ผู้จัดการแผนก ได้จัดโครงการ “เข้าเงียบชีวิตฝ่ายจิตของเยาวชน”ฝึกปฏิบัติจิต แบบเข้มข้นเพื่อแสวงหาน้ำพระทัยของพระเจ้า และจุดมุ่งหมายของชีวิต โดยมีจุดประสงค์ เพื่อให้เยาวชนเข้าใจถึงการใช้ความสงบในการฟังเสียงของพระ และได้นำเสียงเรียกของพระมาใช้กับตัวเอง และแบ่งปันให้ผู้อื่น เยาวชนจะได้พัฒนาชีวิตจิตคริสตชน โดยใช้พระวาจา “เราบอกท่านทั้งหลายว่า จงขอเถิดแล้วท่านจะได้รับ จงแสวงหาเถิด แล้วท่านจะพบ จงเคาะประตูเถิด แล้วเขาจะเปิดประตูรับท่าน เพราะคนที่ขอย่อมได้รับ คนที่แสวงหาย่อมพบ คนที่เคาะประตูย่อมมีผู้เปิดประตูให้” (ลก 11:9-10)  ณ บ้านสวนยอแซฟ อ.สามพราน จ.นครปฐม โดยมีคุณพ่อปราโมทย์ นิลเพ็ชร เป็นผู้ให้การอบรมในครั้งนี้

          วันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม  เริ่มต้นด้วยลงทะเบียน จากนั้น คุณพ่อสราวุธ อมรดิษฐ์ ผู้จัดการแผนกเป็นประธานวจนพิธีกรรม เปิดการเข้าเงียบ จากนั้น คุณพ่อปราโมทย์  นิลเพ็ชร เข้าเงียบแบ่งการเข้าเงียบเป็น 4 ช่วง โดยในแต่ละช่วงสรุปได้ดังนี้

ช่วงที่ 1

          ความเชื่อในพระเป็นเจ้าเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะถ้าเราเชื่อเราก็จะปฏิบัติตาม ถ้าเชื่อชีวิตของเราก็จะเปลี่ยนไป ความเชื่อนั้นทำให้เรามีหลักยึดเหนี่ยว ดั้งนั้นเวลาที่เราเชื่อแล้วจึงมีผลต่อชีวิตของเรา ความเชื่อเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระเป็นเจ้า อาศัยประสบการณ์ในการดำเนินชีวิต ทำให้เรามีเป้าหมายในการดำเนินชีวิตแม้จะแตกต่างกับคนภายนอกก็ตาม

          ช่วงที่ 2

          ความยากลำบากต่างๆในชีวิตของเรามีความหมายเท่ากับกางเขน ที่มีองค์พระเยซูเจ้าประทับอยู่ เมื่อมีพระองค์ ความยากลำบากในชีวิตของเราจึงมีความหมาย พระเป็นเจ้าทรงให้โอกาสเราเสมอ ดังนั้นความยากลำบากต่างๆซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบ ต้องอาศัยการฝึกฝน พระเป็นเจ้าทรงมีแผนการของพระองค์ อยู่ที่ว่าเราจะเข้าใจมันหรือเปล่า ทรงอยู่เคียงข้างเราและเฝ้าดูเราอยู่เสมอ วิธีการช่วยเหลือของพระเป็นเจ้าในแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราเชื่อหรือเปล่า สังคมปัจจุบันกำลังเอื้อเราทุกอย่างในเรื่องของความสะดวกสบาย แต่เรามีมุมมองต่อความยากลำบากนี้อย่างไร ถ้าพร้อมที่จะเสี่ยงไปกับพระองค์ เราก็จะมองเห็นว่าสิ่งที่ทำนั้นมีความหมายต่อตัวเรามากมาย

ช่วงที่ 3

          เวลาที่เราขอจากพระเป็นเจ้า ต้องขอให้เรามีความเชื่อและให้เราทำดี การภาวนาเป็นส่วนหนึ่งของหลักยึด การขอก็เป็นการภาวนา ถ้าเป้าหมายในการขอของเรามีต่อพระเป็นเจ้า การภาวนาจึงเป็นการสนทนากับพระเป็นเจ้า เมื่อไหร่ที่เรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อพระเป็นเจ้า นั่นแหละคือการภาวนา

          การสวดภาวนาไม่ใช่แค่การที่เราขอ แต่ยังเป็นการสรรเสริญและขอบคุณต่อพระเป็นเจ้า การขอจึงมีหลักการอยู่เพียงแค่นิดเดียวคือ ขอให้ชีวิตมีความสุขทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า

          ช่วงที่ 4

          เวลาที่เราเชื่อและมีที่ยึดเหนี่ยว เราสามารถอยู่กับสิ่งที่ยึดเหนี่ยวนั้นได้นานแค่ไหน ในทุกๆวันนี้ชีวิตของเรามีทางเลือกมากมาย อาจมีบางครั้งที่เราเลือกในสิ่งที่ผิด เนื่องจากพระเป็นเจ้าทรงให้อำเภอใจกับเรา อาจจะไม่ถูกใจเราบ้าง แต่เราก็ยังมีทางเลือกอยู่เสมอ สิ่งหนึ่งที่พระเยซูเจ้าให้กับเราผ่านทางพระศาสนจักรคือศีลอภัยบาป ดั้งนั้นเมื่อเราเลือกในสิ่งที่ผิดพลาด เราจึงยังมีโอกาสที่จะ U-Turn กลับไปหาพระองค์อยู่เสมอ ซึ่งโอกาสที่คนต่างศาสนาหลายๆคนอิจฉาชีวิตคริสตชนในจุดนี้ แต่สิ่งที่พวกเรานั้นก็เป็นความจริง เพราะมันคือโอกาสในการเริ่มต้น ซึ่งยังคงมีอยู่เสมอสำหรับเราในศีลอภัยบาป

          ช่วงค่ำเวลา 19.30 เป็นภาวนาเทเซ่และรับศีลอภัยบาป
 

          วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม วันสุดท้ายของการเข้าเงียบ เริ่มต้นด้วยภาวนาเช้า ตามด้วยเข้าเงียบ จากนั้นปิดท้ายด้วยพิธีบูชาขอบพระคุณโดย.คุณพ่อปราโมทย์  นิลเพ็ชร คุณพ่อสราวุธ อมรดิษฐ์ คุณพ่อประจักษ์ บุญเผ่า คุณพ่อเชษฐ์ดนัย ไชยเผือก และคุณพ่อทัศมะ กิจประยูร ท้ายพิธีผู้แทนเยาวชนได้กล่าวขอบคุณคุณพ่อปราโมทย์ นิลเพ็ชร พร้อมมอบของที่ระลึกแด่คุณพ่อ พร้อมถ่ายภาพหมู่ร่วมกับน้องๆเยาวชน